เคล็ดลับการดูแลและทำความสะอาดหูอย่างถูกวิธี
หูเป็นอวัยวะส่วนสำคัญต่อการฟัง การติดต่อสื่อสาร รวมทั้งเป็นอวัยวะที่มีส่วนต่อการทรงตัวของร่างกาย เราจึงควรดูและสุขภาพหูและทำความสะอาดอย่างถูกวิธี ดังนี้
- ไม่สั่งน้ำมูกแรง ๆ
- เมื่อเป็นหวัด คัดจมูก ไม่ควรสั่งน้ำมูกแรง ๆ เพราะนอกจากจะทำให้หูอื้อและแก้วหูอักเสบ เนื่องจากความดันในหูไม่เท่ากันแล้ว ยังอาจก่อให้เกิดโรคหูน้ำหนวกได้ ส่วนใครที่เป็นภูมิแพ้ มีน้ำมูกไหลและต้องสั่งน้ำมูกบ่อย ๆ ควรหลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้อากรภูมิแพ้กำเริบและทานยาเพื่อบรรเทาอาการอย่างสม่ำเสมอ
- เมื่อมีสิ่งผิดปกติเข้าหู
- หากมีแมลงเข้าหู ไม่ควรใช้คอตตอนบัดหรือไม้แคะหูแหย่เข้าไป เพราะอาจทำให้ตัวแมลงเข้าไปลึกถึงหูชั้นใน วิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นคือใช้น้ำหรือน้ำมันมะกอกหยอดรูหูแล้วตะแคงเพื่อให้แมลงไหลออกมาพร้อมน้ำมัน จากนั้นเช็ดทำความสะอาดให้เรียบร้อย หากแมลงไม่ออกมาและมีอาการอื่นร่วมด้วย อาทิ ปวดหู หูอื้อ ควรพบแพทย์โดยด่วน เช่นเดียวกับเมื่อมีสิ่งแปลกปลอมหลุดเข้าหู ไม่ควรแคะออกด้วยตนเอง ทางที่ดีที่สุดคือปพบแพทย์ทันที
- ทำความสะอาดอย่างถูกวิธี
- การทำความสะอาดหูที่ถูกวิธีตามที่แพทย์แนะนำคือการเช็ดทำความสะอาดบริเวณใบหูด้านนอกและรูหูส่วนนอกเท่านั้น อันที่จริงแล้วขี้หูที่มีลักษณะเป็นขี้ผึ้งซึ่งมีทั้งแบบเปียกและแบบแห้ง มีส่วนช่วยในการปกป้องรูหูและอวัยวะภายในจากสิ่งแปลกปลอม เมื่อมีปริมาณมาก ขี้หูจะไหลออกมาเอง หากรู้สึกหูอื้อและปวดหู ควรไปพบแพทย์เพื่อให้แพทย์แคะขี้หูให้ ส่วนใครที่ขี้หูแห้งและแคะออกยาก อาจใช้น้ำมันมะกอกหยอดหูเล็กน้อยเพื่อทำให้ขี้หูนิ่มลงและไหลออกมา
- ระวังหูกระทบกระเทือน
- หลีกเลี่ยงกิจกรรมหรือการกระทำที่ก่อให้เกิดอันตรายกับแก้วหู อย่างเช่นการกระแทกหูแรง ๆ การเล่นกีฬาบางประเภทที่อาจเกิดการกระทบกระเทือนหู อาจทำให้แก้วหูฉีกขาด เป็นสาเหตุให้หูอื้อหรือสูญเสียการได้ยิน
- หลีกเลี่ยงเสียงดัง
- เสียงที่ดังเกินไปเป็นอันตรายต่อหู อาทิ เสียงดนตรีในสถานบันเทิง, เสียงเครื่องจักรในโรงงาน, เสียงขุดเจาะถนนหรือโครงการก่อสร้าง ผู้ที่ทำงานในสถานที่ที่มีเสียงดังมากเกินระดับความปลอดภัยที่กำหนด ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพหูและการได้ยินเป็นประจำทุกปี
- ใช้ไม้แคะหูที่เหมาะสม
- การใช้คอตตอนบัตที่มีขนาดใหญ่เกินไป แทนที่จะเอาขี้หูออกมา กลับกลายเป็นการดันขี้หูเข้าไปลึกขึ้น เพราะฉะนั้นควรใช้ไม้แคะหูที่เหมาะสมในการทำความสะอาด ปัจจุบันมีไม้แคะหูที่มีไฟฉายในตัว สามารถส่องเข้าไปในรูหูเพื่อดูปริมาณขี้หูหรือสิ่งแปลกปลอมได้ อีกทั้งยังมีหัวแคะที่ผลิตจากซิลิโคนชนิดอ่อน ไม่เป็นอันตรายต่อหูที่บอบบาง เปลี่ยนหัวแคะได้หลายแบบ อาทิ หัวคีมสำหรับคีบ, หัวแบน และหัวกลม เป็นต้น